จากระบบน้ำหยด...ถึง ระบบน้ำพุ่ง

ระบบน้ำพุ่ง ระบบน้ำหยด การติดตั้งระบบน้ำพุ่ง เทปน้ำพุ่ง การให้น้ำพืชที่มีประสิทธิภาพ ระบบน้ำพุ่งดีกว่าระบบน้ำหยด   ทดลองวางระบบน้ำพุ่ง การปลูกพืชใช้น้ำน้อย

ระบบน้ำพุ่ง

ระบบน้ำพุ่ง

 น้ำ คือปัจจัยหลักในการเพาะปลูก,ถ้าไม่มีน้ำ ก็ไม่สามารถปลูกพืชใดๆได้ ฉะนั้นเราจึงพยายามหาวิธี บริหารจัดการน้ำที่ดีที่สุด เพื่อให้เรามีน้ำเอาไว้ใช้รดพืช-ผักได้ตลอดฤดูกาลอย่างเพียงพอ ,พืช-ผักของเราก็จะเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง.

 ดังนั้นเราจึงต้องเลือกระบบการให้น้ำแก่พืชที่คิดว่าดีที่สุด แล้ว...เราจะรู้ได้อย่างไรว่า แบบไหนกันล่ะที่ว่า ดีที่สุด? เพราะระบบการให้น้ำก็มีตั้งหลายอย่างเช่น การใช้สายยางรดโดยตรง,การใช้สปริงเกอร์,มินิสปริงเกอร์,ระบบน้ำหยด,ระบบน้ำพุ่ง เป็นต้น... ก็ไม่เห็นจะยากเลย ! ลองพิจารณาได้จากเหตุผลดังต่อไปนี้ ถ้าแบบไหนตรงหรือใกล้เคียงมากที่สุด ก็แบบนั้นหล่ะที่ควรจะเลือก...

 

  1. ประหยัดน้ำมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการให้น้ำด้วยวิธีอื่น 
  2. ประหยัดเวลา ใช้เวลาไม่นานในการให้น้ำแต่ละครั้ง
  3. ประหยัดแรงงาน ไม่เหนื่อยมากในการให้น้ำในแต่ละครั้ง
  4. ประหยัดค่าใช้จ่าย ค่าน้ำมัน หรือ ค่าไฟฟัาในการป้ัมน้ำแต่ละครั้งเนื่องจากใช้เวลาในการให้น้ำสั้นกว่า
  5. ต้นพืช-ผัก มีการเจริญเติบโตได้ดี อย่างต่อเนื่อง

 และ 6. ค่าติดตั้งถูก ทำเองได้

    จากเหตุผลดังกล่าว สำหรับเราเห็นว่า การให้น้ำแบบ "ระบบน้ำหยด" และ "ระบบน้ำพุ่ง" นั้นเข้าข่ายมากที่สุด สำหรับการติดตั้งระบบน้ำหยดนั้นเราเคยกล่าวไว้แล้วในบล็อกก่อนๆ วันนี้ขอนำเสนอ "การติดตั้งระบบน้ำพุ่ง" ถ้าใครสนใจ ก็ตามเรามา ...

     อันที่จริงแล้ว อุปรณ์ต่างๆที่ใช้ติดตัั้งระบบน้ำพุ่งนั้นก็เหมือนกับการติดตัั้งระบบน้ำหยดทุกอย่าง ยกเว้นเปลี่ยนจากสายน้ำหยดเป็นสายน้ำพุ่งเท่านั้นเอง ทีนี้เรามาดูอุปกรณ์แต่ละอย่างกันดีกว่า ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง...

 อุปกรณ์ในการติดตั้งระบบน้ำพุ่ง มีดังนี้...

 

ปั้มสูบน้ำ ปั้มสูบน้ำ 

ปั้มสูบน้ำ 

1)  ปั้มน้ำ 

 ถ้าถามว่า  " ควรเลือกปั้มน้ำขนาดไหนดี...จึงจะเหมาะสมกับพื้นที่ของเรา? " เราก็มีข้อคิดแบบง่ายๆ ที่พอจะนำไปใช้พิจารณาเลือกซื้อปั้มน้ำมาใช้ได้ดังนี้ คือ

    ; ปั้มที่มีขนาดใหญ่นอกจากจะมีราคาแพงกว่าปั้มที่มีขนาดเล็กแล้ว ท่อเมนก็ต้องใช้เบอร์ที่ใหญ่ตามไปด้วย นั่นหมายถึงว่าค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบน้ำจะสูงมาก ค่าน้ำมัน,ค่าไฟฟ้าก็มากกว่าปั้มตัวเล็ก อ้าว!.. แล้วจะให้ทำอย่างไร ถ้าพื้นที่ในการเพาะปลูกมีเป็นสิบๆไร่ เราก็ต้องใช้ปั้มตัวใหญ่เพื่อให้ได้น้ำเพียงพอไม่ใช่หรือ?...  มันก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปั้มตัวใหญ่ๆเสมอไปหรอก เราสามารถใช้ปั้มที่มีขนาดเล็กได้ถ้าเราใช้ระบบการให้น้ำ " แบบแบ่งโซน " อย่างเช่น มีบุคคลท่านหนึ่งซึ่งถือว่า ท่านเป็นครูทางด้านเกษตรอินทรีย์ อันดับต้นๆของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ท่านใช้ ปั้มน้ำ ขนาดท่อ 2 นิ้ว ,2 แรงม้า จำนวน 2 ตัว ให้น้ำแก่พืชในพื้นที่ 10 ไร่ ด้วย ระบบสปริงเกอร์ธรรมดา และระบบสปริงเกอร์ลอยฟ้า โดยมีการให้น้ำแบบแบ่งเป็นโซน ๆไป ,ใครอยากจะลองนำแบบอย่างนี้ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเองก็ลองดู  คิดว่าน่าจะมีประโยชน์มากทีเดียว.

  

             

  ของเราใช้ปั้ม หอยโข่ง ขนาดท่อ 2 นิ้ว, 3.4 แรงม้า , แบบเติมน้ำมัน สูบน้ำได้ปริมาตรสูงสุด 620 ลิตร / นาที , ระยะส่งน้ำสูงสุดได้ 3.7บาร์ ปั้ม ตัวนี้ถือว่าใช้งานได้ดีทีเดียว.  

ถังเติมน้ำปุ๋ยหมักชีวภาพ " ยอด...อัจฉริยะ "
ถังเติมน้ำปุ๋ยหมักชีวภาพ " ยอด...อัจฉริยะ "

ถังเติมน้ำปุ๋ยหมักชีวภาพ " ยอด...อัจฉริยะ "

 2) ถังเติมปุ๋ย " ยอด...อัจฉริยะ "

  ถังเติมปุ๋ย " ยอด...อัจฉริยะ "  ถังนี้สำคัญมาก เพราะสะดวกในการให้ปุ๋ยน้ำไปพร้อมกับระบบน้ำพุ่งได้เลย จริงๆแล้วเราสามารถต่อระบบให้ปุ๋ยแบบ ventury ก็ได้เหมือนกัน...แต่จากที่เราเคยติดตั้งระบบน้ำหยดโดยต่อระบบให้ปุ๋ยน้ำ แบบventury มาแล้ว พบว่า ทำให้แรงดันของน้ำที่ปลายสายลดลงมาก เราจึงเปลี่ยนมาใช้แบบถังเติมปุ๋ยน้ำ แบบบ้านๆ แต่ ใช้งานได้จริง และไม่ทำให้แรงดันของน้ำตกด้วย ซึ่งเราขอตั้งชื่อให้กับถังเติมปุ๋ยนี้ว่า " ถังเติมปุ๋ย  ยอด...อัจฉริยะ " ซึ่งเราได้เรียนรู้หลักการนี้มาจาก คุณครู ธงชนะ พรหมมิ จากทาง youtube, ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านอย่างสูงไว้ ณ โอกาส นี้ด้วย. 

    ในส่วนของถังเติมปุ๋ยนี้ มีส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 ส่วน ด้วยกัน คือ....

         1. ถังใส่น้ำพลาสติก : ควรเลือกถังที่มีคุณภาพดี ทนแดด ทนฝน ไม่แตกง่าย ขนาดประมาณ 100-200 ลิตร( ถังพลาสติกสีดำในภาพมีขนาด 130 ลิตร)

         2. ท่อ " ส่งปุ๋ย...เข้าปั้ม " : จากภาพด้านบน เพื่อนๆจะเห็นว่า เราต่อ ข้อต่อสามทางแยก 6 หุน ทางด้านท่อดูดน้ำเข้า ( จากสระน้ำ-มาที่เครื่อง )ซึ่งห่างจากตัวปั้มออกมาประมาณ 1 ฟุต จากนั้นต่อวาล์ว ปิด-เปิดน้ำ ขนาด 6 หุน แล้วต่อท่อ pvc  ขนาด 6 หุนเพื่อไปเชื่อมต่อกับด้านล่างสุดของถังเติมปุ๋ย ซึ่งถังเติมปุ๋ยนี้เราได้เจาะรูด้านล่างไว้เรียบร้อยแล้ว  เราขอเรียกท่อส่วนนี้ว่า " ท่อส่งปุ๋ย เข้าปั้ม " ก็แล้วกัน... เพื่อที่จะได้นึกภาพออก เข้าใจง่าย.

          3. ท่อ " ส่งน้ำ...เข้าปุ๋ย " : จากภาพด้านล่าง จะสังเกตุเห็นว่ามี วาล์วเปิด-ปิดน้ำ อยู่ 1 ตัว ซึ่งต่อทางด้านท่อน้ำออก โดยใช้ข้อต่อสามทางแยก 6 หุนเหมือนกัน ท่อนี้มีไว้เพื่อเปิดน้ำเข้าไปผสมกับปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ควรผสม น้ำหมักชีวภาพ กับ น้ำเปล่าในอัตราส่วน 1:40 ไว้ก่อนในถัง แล้วจึงปล่อยน้ำปุ๋ยนี้ไปผสมกับน้ำในท่ออีกที เพื่อปล่อยให้พืชต่อไป. 

 

 

ตัวกรองเกษตร แบบตะแกรง ขนาด 2 นิ้ว

ตัวกรองเกษตร แบบตะแกรง ขนาด 2 นิ้ว

3) ตัวกรองเกษตร

     ตัวกรองเกษตร ทำหน้าที่กรองสิ่งที่เจือปนมากับน้ำ จำเป็นต้องมีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ รูท่อน้ำพุ่งของเราอุดตันได้ แต่ในขณะเดียวกัน น้ำที่ผ่านตัวกรองเกษตรนี้แล้ว  จะมีแรงดันลดลงกว่าตอนที่ยังไม่ผ่านตัวกรองเกษตร... ตรงนี้ก็เป็นข้อสังเกตุอย่างหนึ่ง ในการพิจารณาเลือกซื้อปั้มน้ำโดยเผื่อไว้ว่าปริมาณน้ำที่ได้และแรงดันน้ำที่ออกมาจริงๆแล้วจะต่ำลงกว่า สเปคของเครื่องตามที่บอกเอาไว้ที่ตัวเครื่อง.

 

ท่อดักอากาศ (  แอร์แว)

ท่อดักอากาศ ( แอร์แว)

 4) ท่อดักอากาศ ( แอร์แว )

    เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากเกี่ยวกับเจ้า ท่อดักอากาศ( แอร์แว ) ตัวนี้ มีหลายท่านไม่เห็นด้วย ไม่เชื่อว่า เจ้าท่อดักอากาศนี้มีประโยชน์,ใช้งานไม่ได้จริง บ้างก็อ้างทฤษฎีมากมายมาอธิบาย,บ้างก็ลองทำดูแล้วก็ว่าไม่ได้ผล อีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งที่เป็นเกษตรกร และไม่ได้เป็นเกษตรกร ก็บอกว่าเจ้าท่อดักอากาศนี้  ช่วยเพิ่มแรงดัน, แรงดึงน้ำ ทำให้สามารถส่งน้ำไปได้ไกลขึ้น สูงขึ้น  ลดการทำงานของปั้มน้ำ ขอบอกว่าใช้แล้วดี มีประโยชน์ จริง  จริ๊ง!!...     

  อย่างนี้ต้องขอลองพิสูจน์กันหน่อยแล้ว... เพราะเราถือคติที่ว่า... 

           

             " สิบปากว่า...ไม่เท่าตาเห็น 

                สิบตาเห็น...ไม่เท่ามือคลำ " 

 

...ให้รู้กันไปเลย ผลที่ได้ จะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นการเรียนรู้ ไม่มีอะไรเสียหาย ไม่เคยนึกเสียดายเวลา ไม่เสียดายเงิน เพราะการกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (ในสิ่งที่เป็นประโยชน์) สำหรับเรา ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย,น่าลอง และมีคุณค่ายิ่ง.

  การติดตั้งเจ้าท่อแอร์แวตัวนี้ก็ไม่ยากอะไร เท่าที่ได้ค้นหาข้อมูลและดูเขาทำกันมาหลายๆท่าน เราก็สรุปเอาเองว่า ทำแบบนี้ก็แล้วกัน  :

             -  เราใช้ระยะห่าง ระหว่างท่อแอร์แวตัวแรก กับ ตัวปั้ม~ 3 เมตร

          -  ท่อแอร์แวของเราใช้ท่อขนาด 3 นิ้ว, สูง 1.5 เมตร (ท่อประธาน เราใช้ท่อpvc ขนาด 2 นิ้ว)จากข้อมูลที่หาได้ พบว่า บางท่านแนะนำว่า ท่อแอแวร์ควรมีขนาดใหญ่เป็น สองเท่าของขนาดท่อประธาน ถึงจะถูกต้อง เช่น ถ้าท่อประธานของเรามีขนาด 2 นิ้ว ,ท่อแอร์แวก็ควรมีขนาด 4 นิ้ว เป็นต้น ถ้าใครจะลองทำดูก็น่าจะดีได้ผลอย่างไรแล้วสามารถแชร์มาได้ที่ ; 

                   baansunkoo-organic @hotmail.com  

          - เราทำท่อแอร์แว สองตัวคู่ เพราะคิดว่าน่าจะมีประสิทธิภาพดีกว่าตัวเดียว โดยระยะห่าง ระหว่างท่อแอร์แวตัวแรกกับตัวที่สอง ~ 50 เซนติเมตร  

          - การประกอบตัวท่อแอร์แว ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร ดูจากภาพแล้วใครๆ ก็ทำได้  โดยเริ่มจาก ตัดท่อ pvc ขนาด3 นิ้ว ความยาว 1.5 เมตร แล้วใช้ฝาครอบ ทากาว ปิดด้านบนให้แน่น ส่วนท่อด้านล่าง ต่อข้อต่อตรง 3 นิ้วลด 2 นิ้ว แล้วมาเชื่อมต่อกับท่อประธานที่ข้อต่อสามทางอีกทีหนึ่ง  แล้วอย่าลืม หาไม้ หรือ เสา มายึดท่อแอแวร์เอาไว้ให้แน่น ไม่โยก ไม่ล้มง่าย แค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อย แต่มีข้อสำคัญที่ต้องระวังคือ ท่อแอแวร์นี้ต้องปิดให้แน่น ห้ามมีรูรั่วโดยเด็ดขาด เพื่อให้เกิด สูญญากาศภายในท่อนั่นเอง.

          - ควรติดตั้งแอร์แวทุกๆ 50 เมตรของความยาวของท่อประธาน  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

 

ท่อแอร์แวตัวที่สาม ติดตั้งไว้ ห่างจากท่อแอร์แวชุดแรก ~ 50 เมตร
ท่อแอร์แวตัวที่สาม ติดตั้งไว้ ห่างจากท่อแอร์แวชุดแรก ~ 50 เมตร

ท่อแอร์แวตัวที่สาม ติดตั้งไว้ ห่างจากท่อแอร์แวชุดแรก ~ 50 เมตร

  หลังจากที่ติดตั้ง แอร์แวเสร็จแล้ว ก็ได้ทดลองใช้ดู พบว่า น้ำที่ออกปลายสายท่อประธาน ออกเต็มสาย และ ความแรงของน้ำไม่แตกต่างจากตอนที่ไม่ได้ติดตั้งแอร์แว แต่...สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีความแตกต่างกัน ก็คืือ ปั้มน้ำทำงานเบามากกว่าตอนที่ไม่ได้ติดตั้งแอร์แว, ไม่จำเป็นต้องเร่งเครื่องเลย น้ำก็ออกดีเท่ากัน ทำให้ ประหยัดน้ำมัน และลดการทำงานของปั้มลงไปได้จริง  นับได้ว่าเจ้าท่อดักอากาศ หรือท่อแอร์แว ตัวนี้มีประโยชน์จริง ... 

 

 

 ท่อPVC สีฟ้า ขนาด 2 นิ้ว เป็นท่อประธาน ท่อPVC สีฟ้า ขนาด 2 นิ้ว เป็นท่อประธาน

ท่อPVC สีฟ้า ขนาด 2 นิ้ว เป็นท่อประธาน

 5)  ท่อประธาน หรือ ท่อเมน 

     ท่อประธาน หรือ ท่อเมน นี้จะมีหลายขนาด ขึ้นอยู่กับขนาดท่อของปั้มน้ำ เช่น ท่อออกของปั้มมีขนาด 2 นิ้ว เราก็ใช้ท่อเมนเป็น ท่อขนาด 2 นิ้ว เช่นกัน , เราสามารถใช้ท่อ PVC สีฟ้า หรือ ท่อ PE สีดำ เป็นท่อเมนได้เหมือนกัน ทั้งท่อPVC สีฟ้า และ ท่อ PE สีดำ ก็มีให้เลือกหลายแบบ ทั้งนี้ก็แล้วแต่วิจารณญาณของท่านว่าจะเลือกแบบไหนที่ เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด ทนที่สุด และ ถูกที่สุด (ถ้าเป็นไปได้ ) .

 

 

 

 

วาล์วเปิด-ปิดน้ำ และท่อรองประธานขนาด 2 นิ้ววาล์วเปิด-ปิดน้ำ และท่อรองประธานขนาด 2 นิ้ว

วาล์วเปิด-ปิดน้ำ และท่อรองประธานขนาด 2 นิ้ว

 6) วาล์วเปิด-ปิดน้ำ และท่อรองประธาน

    เมื่อเราได้ต่อท่อประธาน ขนาด 2 นิ้ว กับท่อออกของเครื่องปั้มน้ำเรียบร้อยแล้ว โดยวางไว้ที่บริเวณตอนกลางตลอดแนวของแปลงปลูก หลังจากนั้น ก็ต่อท่อแยกออกมาทาง ซ้าย-ขวา ของท่อประธาน ท่อนี้เรา เรียกว่า ท่อรองประธาน ควรใช้ท่อขนาด 2 นิ้วเท่าเดิม แล้วติดตั้งวาล์วเปิด-ปิดน้ำ ไว้กับท่อแยกรองประธานทุกเส้น เพื่อสะดวกในการให้น้ำเป็นโซนๆไปนั่นเอง โซนไหนที่ไม่ต้องการให้น้ำ เราก็บล็อกท่านรองประธานโซนนั้นเอาไว้ โดยปกติแล้ว เราจะเปิดน้ำให้แก่โซนที่ใกล้ชิด(โซนแรก)ก่อน แล้วค่อยๆไล่ลำดับไป จนกระทั่งถึงโซนห่างไกล(โซนสุดท้าย)เป็นอันเสร็จพิธี. 

 

 

สายน้ำพุ่ง
สายน้ำพุ่งสายน้ำพุ่ง
สายน้ำพุ่ง

สายน้ำพุ่ง

 7) สายน้ำพุ่ง

     สายน้ำพุ่ง ก็มีหลายยี่ห้อให้เลือก ,หลายขนาด, คุณสมบัติแตกต่างกันไปนอกจาก เลือกสายน้ำพุ่งที่เหมาะสมกับพื้นที่และพืชที่จะปลูกแล้ว อย่าลืมคำนวณดูว่า น้ำที่ได้จากสายน้ำพุ่งนี้คิดเป็นจำนวน กี่ลิตร/ นาที/ไร่ และต้องการแรงดันกี่บาร์ เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับคุณสมบัติของปั้มที่เรามีว่า เข้ากันกันได้หรือไม่.

    จากประสบการณ์ที่ได้ติดตั้งระบบน้ำพุ่ง เราให้น้ำพืชแบบแบ่งโซน, โซนละ ~ 1 ไร่(มีพื้นที่ ที่ต้องให้น้ำพืชจริง ~ 3ไร่) ,ให้น้ำโซนละ 20นาที น้ำก็เปียกชุ่มพอดี  พบว่าระบบน้ำพุ่ง สามารถติดตั้งเองได้ ใช้งานง่าย,สะดวก,ประหยัด สามารถให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพและน้ำยาไล่แมลงไปพร้อมกับน้ำได้เลย น้ำที่พุ่งออกมาจะมีลักษณะเป็น เส้นละอองฝอย คล้ายละอองฝน  พุ่งสูงขึ้นมาทางด้านบน ~1-1.5 เมตรและแผ่ไปด้านข้างทั้งสองด้านรวมแล้ว~3  เมตร ทำให้พืชได้รับปุ๋ยน้ำชีวภาพและน้ำยาไล่แมลงทั้งทางใบและทางรากในเวลาเดียวกัน พื้นที่เปียกชุ่มตลอดทั้งแปลง ทำให้รากพืชที่แผ่กระจายออกไปตามแนวแปลงได้รับน้ำและปุ๋ยได้อย่างเต็มที่ พืชก็มีการเจริญเติบโตได้ดีมากยิ่งขึ้น แต่ผลเสียที่เห็นได้ชัดเจนคือ วัชพืชที่อยู่บนแปลงปลูกก็งอกงามด้วยเช่นกัน แต่ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกังวลไป เพราะเรามีตัวช่วย ก็เพียงแค่ใช้ฟางข้าวคลุมแปลงไว้ เท่านี้ปัญหาของวัชพืชก็หมดไป นอกจากนี้ยังได้เก็บความชุ่มชื้นให้กับหน้าดิน เมื่อฟางและวัชพืชย่อยสลายก็กลายมาเป็นปุ๋ยให้แก่พืชอีกที และเหนือความคาดหมาย เรายังได้ต้นข้าวอินทรีย์ที่ขื้นเองตามธรรมชาติจากฟางข้าวอีกด้วย.

   ก็หวังว่าจากประสบการณ์จริงที่ได้ทดลองติดตั้งและใช้  " ระบบน้ำพุ่ง " นี้ คงจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆเกษตรกรบ้าง ไม่มากก็น้อย...ด้วยความปรารถนาดีจาก สวนเกษตรอินทรีย์บ้านสันคู นครสวรรค์.

K
ขออนุญาตสอบถามครับ การวางเทปน้ำพุ่ง ถ้าวางในพื้นที่ที่ไม่เรียบจะมีผลอะไรไหมครับ
Répondre
B
ถ้าพื้นไม่เรียบเล็กน้อยก็ไม่มีปัญหาแต่ถ้าลองวางเทปน้ำพุ่งแล้วสายเกิดหัก พับ งอ แบบนี้มีปัญหาแน่นอน ถ้าสายน้ำหักงอ น้ำเดินไม่สะดวก น้ำทางปลายสายก็จะไม่พุ่ง ส่วนน้ำทางต้นสายก็จะมีแรงดันมากกว่าปกติอาจทำให้สายน้ำพุ่งส่วนนี้แตกได้ แต่เราก็มีวิธีแก้ไขลองทำดังนี้<br /> 1) ถ้าพื้นที่คุณมีปัญหาแค่บางจุดที่พื้นไม่เรียบเช่นบางช่วงเป็นเนินสูง เราก็แค่ถากเอาดินออกทำให้เป็นร่องแค่พอวางสายน้ำพุ่งได้ก็พอหรือถ้าเป็นเนินสูงมากยากแก่การถากถาง คุณก็ใช้วิธีตัดสายน้ำส่วนนี้ออกไป แล้วใช้ท่อ PE ขนาดเดียวกันมาต่อแทนโดยใช้ลวดมัดตรงรอยต่อให้แน่น ท่อPE สามารถโค้งงอได้ไม่หักงอแน่นอน แต่ช่วงตรงนี้จะไม่มีน้ำพุ่งออกมา, ถ้าบริเวณไหนเป็นแอ่งเว้าลึก ถ้าขยันก็หาดินมาถม แต่ถ้าไม่ก็หาแผ่นไม้เรียบๆยาวๆมาวางพาดแค่พอวางสายน้ำได้<br /> 2) แต่ถ้าพื้นที่ของคุณมีปัญหาสูงๆต่ำๆตลอดแนว แบบนี้คุณต้องใช้ไม้ไผ่ปักเป็นแถวให้มีแนวระนาบเดียวกันแล้วเอาไม้ไผ่ทำเป็นแผ่นแบนๆวางทับด้านบนแล้วยึดให้แน่นทำต่อเนื่องกันเป็นเหมือนราวยาวๆตลอดแปลงแล้ววางสายน้ำพุ่งบนแผ่นไม้ไผ่นี้<br /> <br /> หวังว่าคำตอบของเรานี้จะช่วยแก้ปัญหาให้คุณได้... และขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนเกษตรกรทุกท่านที่กำลังประสบปัญหาในการทำการเกษตรสามารถแก้ปัญหาต่างๆให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี หากเพื่อนๆท่านใดมีแนวคิดหรือวิธีการที่ดีกว่า กรุณาแชร์ประสบการณ์หรือแนวคิดของท่านมาได้ที่ baansunkoo-organic@hotmail.com เรายินดีแชร์ต่อเพื่อเป็นประโยชน์แก่เพื่อนเกษตรกรต่อไป <br /> <br /> .....ด้วยความปรารถนาดีจาก... สวนเกษตรอินทรีย์บ้านสันคู นครสวรรค์
คุณ มณี อุฤทธิ์ 132 ม.3 ต.นครสวรรค์ตก อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ 60000 - Tel.: 095-8862048 -  Hébergé par Overblog